DNF จุด(ไม่)จบของนักวิ่ง

DNF จุด(ไม่)จบของนักวิ่ง

การที่เราตั้งใจซ้อมเพื่อมาวิ่งอย่างเต็มที่ เข้าจุดเส้นชัยมันคือความภาคภูมิใจที่เราคาดหวังให้มันเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเหรียญมีสองด้าน มีสมหวัง ก็ต้องมีผิดหวัง จึงเกิดคำว่า Finisher และ DNF ขึ้นมา

DNF คืออะไร DNF ย่อมาจาก Did Not Finish เอากันตรงๆเข้าใจง่ายนั้นก็คือ “วิ่งไม่จบ” ไม่ว่าจะเหตุผลด้วยวิ่งไม่ไหวเพราะอาการบาดเจ็บ เพราะเหนื่อยจนไม่ไหว หรือวิ่งไม่ทันเวลาตามที่กำหนด ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักวิ่งกลัวจะเกิดกับตัวเองที่สุด กลัวอับอายที่ต้องไปบอกกับคนอื่นว่าเราวิ่งไม่จบ จนให้หลายๆท่านฝืนร่างกายและเกิดอาการบาดเจ็บ หรืออันตรายจนอาจถึงชีวิตเลยก็ได้

วันนี้ที่เราจะมาบอกท่านนักวิ่งว่า DNF นั้นคือการวิ่งไม่จบ แต่ มันก็ไม่ใช่จุดจบของการวิ่งของเราเช่นกัน งานนี้ไม่ไหวงานหน้ายังมี จึงจะมาแชร์ประสบการณ์ที่ DNF แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการวิ่งครับ

ช่วงที่ผมเริ่มวิ่งแรกๆเป็นช่วงที่เห่อการวิ่งอย่างมาก และการวิ่ง20kครั้งแรกดันฟลุ๊ค ติดถ้วยอันดับที่5มาด้วย ยิ่งทำให้ผมลงสมัครงานวิ่งอย่างบ้าคลั่ง เรียกว่า สัปดาห์ต่อสัปดาห์เลยทีเดียว แต่ด้วยการซ้อมต่อเนื่องและลงงานอย่างต่อเนื่อง เกิดอาการข้อเท้าพลิก และอีก 3 วันลงการวิ่งHalf เอาไว้ด้วย ได้แต่ภาวนาว่าน่าจะหายทัน พอถึงวันงานผมรู้สึกว่า อาการมันก็ดีขึ้นวิ่งไปคงไม่เจ็บมากเท่าไร หลังจากออกวิ่งไปเรื่อยๆ วิ่งไปได้แค่ 12k เท่านั้น ผมรู้สึกมีอาการเจ็บและถือเป็นการเจ็บครั้งแรกในการวิ่งที่ผมรู้ซึ้งถึงอาการเจ็บจนวิ่งไปต่อไม่ได้ แต่ยังฝืนวิ่งไปช้าๆ จนกิโลที่13 ผมมองเห็นข้อเท้าตัวเองบวม จึงตัดสินใจเดินออกมาจากเส้นทางการวิ่ง มานั่งสลดอยู่กับตัวเอง ไม่กล้าบอกใคร รู้สึกแพ้ที่ DNF กลับบ้าน เดินเขย่งขาเพราะเจ็บมาก แม่เข้ามาถามว่าเป็นไง ได้ถ้วยกลับมาไหม ผมได้แต่ตอบไป ด้วยเสียงเศร้าๆ แม่ ผมแพ้ ไม่ได้แม้กระทั่งเหรียญ ข้าวที่เขาแจกก็ไม่ได้กิน ไม่ได้อะไรกลับเลยแม่ ได้แต่แผลกลับมา ตอนที่พูดนั้นอาจจะหมายถึงแผลที่บาดเจ็บข้อเท้า แต่แผลที่มันใหญ่กว่านั้นคือจิตใจของผม ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นมันกดความจองหองในความเร็วของผมไว้จมดินเลย แม่ยิ้มแล้วหันมาลูบหัวผม “ เราเก่งจะตาย คิดดู คนลงสมัครเป็นพัน วิ่งจบเป็นพัน มีคนวิ่งไม่จบไม่กี่คนเอง ยากนะเนี่ยที่วิ่งไม่จบ อย่าคิดมาก ไปวิ่งเอาสุขภาพ ทีหลังบอกคนจัดงานแข่งวิ่งไม่จบซิ ปลั๊กได้ถ้วยไปแล้ว” ผมจากซึมก็อดขำไม่ได้ จากนั้นผมก็ได้พักฟื้นร่างกายลดความเร็วในการวิ่งมาเน้นวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดี และหาความท้าทายใหม่ให้ตนเองอย่างการวิ่ง Trail มองย้อนกลับไปถ้าผมไม่ยอม DNF ตรงนั้นฝืนวิ่งต่อ ร่างกายผมอาจจะแย่กว่านี้ หรืออาจจะวิ่งไม่ได้อีกเลยด้วยซ้ำ

บทเรียนจากงานวิ่งนี้ที่ผม DNF มันก็ทำให้ตัวผมเองหันมาชุกคิดขึ้นมาว่า “เราวิ่งเพื่ออะไร?” เพื่อจะชนะคนอื่น? เพื่อได้เหรียญสวยๆ?  เพื่ออวดเพื่อนๆในโซเชียล? เพื่อทำความรู้จักกับสังคมใหม่? เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง? หรือเพื่อสุขภาพที่ดีของเรา?

ถ้าหากเราตอบตัวเองได้ว่า เราออกมาวิ่งเพื่ออะไร ผมว่า จะDNF หรือ Finisher มันก็ไม่สำคัญอีกต่อไป แล้วคุณล่ะ “วิ่งเพื่ออะไร?”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า