หัวใจขาดเลือดฉับพลัน !!
เมื่อวานพึ่งได้ข่าว อาจารย์แพทย์ รพ. ค่าย เสียชีวิตขณะออกกำลังกาย ฟังแล้วใจหาย ไม่เข้าใครออกใครเลย ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวอาจารย์ด้วยครับ เลยอยากให้นักกีฬาทุกท่านที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจขาดเลือดฉับพลัน คัดกรองก่อนการออกกำลังให้ละเอียด
คนที่มีความเสี่ยง ได้แก่
- คนที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะกลุ่ม LDL สูงมากๆ >180 ควรตรวจให้ละเอียด
- คนที่เป็นเบาหวาน
- คนที่สูบบุหรี่เยอะ (เฉลี่ยวันละ 1 ซอง เกิน 10 ปี) ยิ่งต้องระวัง
- อื่นๆ ความดันสูง ภาวะอ้วน
จะเห็นว่าข้อ 2-3 ส่วนใหญ่รู้ตัวว่ามีโรคแล้ว จะไม่ออกกำลังเน้น Performance หลายคนจะออกเพื่อสุขภาพ เบาๆ ไม่หนัก ไม่นาน แต่กลุ่มไขมันในเลือดสูง เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการเลย ร่างกายแข็งแรง ความฟิตดี ออกหนักๆ เพื่อแข่งขันได้เลย
หัวใจขาดเลือดฉับพลัน เกิดจากยาดำซ่อนอยู่ !!
การที่เส้นเลือดหัวใจยังไม่ตีบมาก แต่มีคราบไขมันอยู่ตามหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเราจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย แถมแข็งแรงซ้อมกีฬาหนักๆ สบาย มีแค่ไขมันในเลือดที่สูง ปัญหาของกลุ่มนี้คือ
ไม่มีอาการ
ตรวจเบื้องต้นจะไม่พบความผิดปกติ
ตรวจเดินสายพาน ปกติได้
ตรวจคลื่นหัวใจ ปกติได้
ตรวจ echo คลื่นสะท้อนหัวใจปกติดี
การตรวจคราบไขมันที่พอทำได้ คือ การทำ CT Scan เรามีการทำ 2 แบบ
1. CT Calcium score – คือการทำ CT แบบไม่ต้องฉีดสาร contrast เพื่อดูปริมาณ calcium ในหลอดเลือด ถ้ามีประมาณแคลเซียมเยอะ พอบอกได้ว่ามีคราบไขมันเยอะ แต่การตีบของเส้นเลือดอาจบอกได้ไม่ละเอียด
เหมาะกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง และไม่มีอาการ ถ้าผลผิดปกติมากๆ อาจต้องตรวจ CTA ต่อ
ประโยชน์อีกอันที่ผมชอบใช้ในเคสที่คนเป็นไขมันสูงมากๆ แต่ไม่ยอมกินยาไขมัน หรือมีความเชื่อเรื่องไขมันสูงไม่เป็นไร จะแสดงได้ว่าเส้นเลือดมีคราบไขมันไปเกาะแล้ว ถึงเวลากินยา และปรับพฤติกรรมได้
2. CTA หรือการทำ CT แบบฉีดสี ตัวนี้ ESC guideline แนะนำให้ทำในกลุ่มนักกีฬาที่มีความเสี่ยงสูง และยังไม่มีอาการ เพราะเห็นรายละเอียด เห็นคราบไขมัน เห็นจุดตีบมากกว่า ชัดกว่า CT Calcium แต่นักกีฬาที่ทำต้องฉีด contrast ซึ่งอาจแพ้ได้ และมีผลกับไตชั่วคราว
ในการปฏิบัติที่ผมทำในกลุ่มเสี่ยงคือ จะอธิบายให้นักกีฬาเข้าใจ ส่วนใหญ่นักกีฬาเลือกทำ CT calcium ก่อน เพราะทำได้ไว ไม่โดน Contrast ราคาถูก (3,000-4,000 บาท) เพราะ รพ. แข่งกันจัดโปร ถ้าผลเป็น 0 ค่อนข้างสบายใจได้ แต่ถ้าผลผิดปกติมากๆ ค่อยทำ CTA ต่อ เพื่อดูว่ามีรอยตีบร่วมด้วยไหม เพราะการทำ CTA ใช้เวลาทำนาน ค่าใช้จ่าย 2-3 หมื่นและต้องโดน contrast ซึ่งเกิดผลเสียได้
ส่วนตัวที่ผมทำจะนึกถึง cost effectiveness (ความคุ้มค่าในการคัดกรอง เทียบจำนวนเงิน กับการเจอเคสที่ผิดปกติ) เป็นเรื่องรอง เน้นตรวจละเอียดมากขึ้นกว่าถ้ายังค้างคาใจ หรือพูดง่ายๆ คือ คัดกรองไว้ก่อนปลอดภัยกว่า เรื่องหัวใจตรวจมากไปดีกว่าตรวจน้อยไป เพราะเกิดเรื่องแล้วแก้ตัวไม่ได้ อาจเสียชีวิตทันทีหรือรักษาไม่ทัน และสุดท้ายต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรสามารถคัดกรองได้ 100% ตรวจมากไปสิ้นเปลือง ไม่ตรวจเลยก็อาจจะดูน้อยไป หาจุดตรงกลางของแต่ละคนให้เจอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์และนักกีฬาทำงานร่วมกันครับ
ไขมันสูงอย่าชะล่าใจ ไม่มีคำว่าไขมันสูงเป็นเรื่องปกตินะครับ
Cr.หมอแอร์
ตรวจคัดกรองโรค คลิ๊ก