แข่งวิ่งยังไง ไม่ให้วูบคาสนาม

แข่งวิ่งยังไง ไม่ให้วูบคาสนาม
          พอมีข่าว มีนักวิ่งถึง 3 ท่าน เสียชีวิตฉับพลัน ในวันเดียวกัน มีนักวิ่งสอบถามกันมามากมาย บางคนถึงขนาดวิตกกังวล ไม่กล้าวิ่ง และมองว่าการวิ่งทำให้เสียชีวิต ผมขออธิบายดังนี้ครับ

          คนที่ร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีโรคแทรกซ่อน โดยเฉพาะโรคหัวใจ โอกาสที่จะออกกำลังกายแล้วเสียชีวิตฉับพลันแทบเป็นไปไม่ได้เลย เต็มที่ก็ทำให้เป็นลมหมดสติถ้าออกหนักเกินไป กลับกันกับคนที่โรคหัวใจซ่อน การออกกำลังกายที่มากเกินไปสำหรับร่างกายในช่วงเวลานั้น ก็อาจทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันที่ออกแรงมากกว่าปกติ เช่นการขึ้นบันได การขึ้นสะพานลอย การเบ่งอุจจาระ การมีเพศสัมพันธ์ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน หรือถ้าโรคเป็นมาก เส้นเลือดตีบมากแม้แต่อยู่เฉยๆก็ทำให้หัววายได้

คราวนี้ถ้าเราไม่รู้ว่ามีโรคซ่อนไหม แต่เรามีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่

  1. ไขมันในเลือดสูง
  2. เบาหวาน
  3. ความดันสูง
  4. ภาวะอ้วน
  5. สูบบุหรี่
  6. ประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด

สิ่งที่ควรทำ​ “ไม่ใช่​การไม่ออกกำลังกายเพราะกลัวเสียชีวิตนะครับ” กลับกันควรที่จะเริ่มออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแบบจริงจัง ( Recreation Exercise ) ซึ่งภาพรวม จะลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้มากกว่า ทำให้อายุยืนยาวมากกว่าแน่นอน สามารถปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายได้เลย แทบทุกโรคสามารถออกกำลังได้ แม้แต่คนที่เป็นโรคหัวใจแล้วก็ยังมีประโยชน์จากการออกกำลังกาย แต่ต้องมีความหนักที่เหมาะสมและระยะเวลาที่เหมาะสม

การมีปัจจัยเสี่ยงด้านบน ต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ทางด้าน Sport Cardiology ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่า คุณห้ามแข่งกีฬานะครับ ยังสามารถแข่งได้ แต่เราควรรู้ตัวเองว่าเรามีความเสี่ยงด้วยแม้จะน้อยนิดแค่ไหนก็ตาม การแข่งควรทำอย่างปลอดภัย และลดข้อแทรกซ้อนที่อาจพึงเกิดได้ครับ ซึ่งผมสรุปให้ดังนี้

9 ข้อที่จะลดโอกาสเสียชีวิตฉับพลันจากการแข่งขัน

  1. วิ่ง Zone 2-3 ปลอดภัยและดีต่อใจกว่า

เพราะการวิ่ง Zone 2-3 เป็นการออกกำลังแบบ Aerobic Exercise หัวใจไม่ทำงานหนักไป ลดโอกาสเกิดข้อแทรกซ้อนทางหัวใจได้มากกว่า ในกรณีมีโรคซ่อน วิธีง่ายๆคือ Talk Test ถ้ายังพูดเป็นประโยคได้ ยังถือว่าออกแบบ Aerobic Exercsie อยู่

  1. อากาศร้อนควรหลีกเลี่ยง

อุณหภูมิที่สุง ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อมากขึ้น ทำให้ร่างกายเสียเกลือแร่มากขึ้น การวิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้น คนที่มีโรคหัวใจซ่อน ทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายกว่าปกติ

  1. เติมน้ำและเกลือแร่ให้พอ

ภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ ขณะออกกำลังกาย สามารถกระตุ้นให้โรคประทุได้ง่ายขึ้นมาก กระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะง่ายขึ้นในคนที่มีโรคซ่อน ดังนั้นเราจึง ไม่อดน้ำวิ่ง เติมน้ำในร่างกายรวมถึงเกลือแร่ให้เพียงพอ ตลอดการวิ่ง

  1. ซ้อมยังไง แข่งยังงั้น

พบคนที่เกิดหัวใจวายฉับพลัน จำนวนมาก เกิดจาก การซ้อมที่ไม่เป็นระบบ เช่นซ้อมน้อย ซ้อม Zone ต่ำ แต่ไปแข่งหนัก แข่งนาน แข่ง Zone สูงเกินที่ซ้อม ทำให้หัวใจทำงานหนักกว่าที่เคย โรคที่ซ่อนก็ปะทุออกมา

  1. แข่งกับตัวเอง ไม่ต้องสนคนข้างหน้า

การวิ่งไล่ล่า การแข่งกับนักแข่งข้างๆ หรือแม้แต่การวิ่งทำเวลา Sub 5 Sub4 คือการเร่งร่างกาย เกินความสามารถจริงๆของเราได้ และทำให้โรคปะทุ รู้ตัวเองทุกครั้งระหว่างแข่ง ไม่ต้องแข่งกับใคร แข่งกับตัวเองพอ

  1. ฟังเสียงร่างกายตัวเองทุกครั้ง

เมื่อมีความผิดปกติ 2 อาการ ได้แก่ 1 จุกเจ็บแน่นกลางหน้าอก หรือลิ่นปี่ หรือ 2 มีอาการเวียนหัวหน้ามืดจะเป็นลม ให้หยุดการแข่งขันทันที ไม่นั่งพัก แต่ต้องแจ้งให้เพื่อนักวิ่งทราบ ให้เจ้าหน้าที่สนามทราบ พื่อประเมิน รีบนำส่ง รพ เพราะอาจเป็นภาวะเริ่มต้นของหัวใจวายได้

  1. ยิ่งไกล ยิ่งนาน ยิ่งเสี่ยง

เมืองไทยเป็นเมืองร้อนครับ อุณหภูมิที่สูง เป็นตัวเร่งดังที่กล่าวไป การแข่งมาราธอน หลัง 8.00 อากาศร้อนมาก การแข่งไตรกีฬา งานวิ่งเทรล ก็เช่นกัน ระยะใกล้จะปลอดภัยกว่าในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดนะครับ แต่แน่นอนไม่ได้ห้ามว่าแข่งระยะไกลไม่ได้ครับ

  1. เราต้องเลือกสนาม ไม่ใช่สนามต้องเลือกเรา

งานวิ่งถนน การเข้าถึงของทีมช่วยเหลือ ทำได้เร็ว และง่ายกว่า งานวิ่งเทรล ลึกๆ ไกลๆ การเข้าถึงของทีมช่วยเหลือ และการลำเลียงทำได้ช้ากว่า กีฬาทางน้ำ เช่นการว่ายน้ำ ทำให้การเข้าช่วยเหลือทำได้ลำบากขึ้น แต่ก็เช่นกัน ไม่ได้ห้ามคุณวิ่งเทรล หรือแข่งไตรกีฬานะครับ

  1. ต้องรู้ตัวเอง

ประเมินความเสี่ยงตัวเองสักที ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจมากน้อยขนาดไหน ใช้ของต่างประเทศ หรือของไทยก็ได้ครับ

ใครความเสี่ยงตั้งแต่ปานกลาง​ ปรึกษาแพทย์​ก่อนแข่งได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

https://med.mahidol.ac.th/cardio…/thai_cv_risk_score/

อยากให้ภาพนักวิ่งเสียชีวิตตอนแข่งหมดไป​ จากข่าวกีฬา อยากให้ทุกคนแข่งได้อย่างปลอดภัยนะครับ

รักและห่วงใย​ ช่วยแชร์ให้เพื่อนๆนักวิ่งด้วยครับ

 

Cr.หมอแอร์

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า