การเสียชีวิตขณะออกกำลัง เกิดจากอะไร? ป้องกันอย่างไร?
คุณจะทำอย่างไรถ้าเจอ?
ผมได้รับคำถามจากเพื่อนนักวิ่ง นักไตร ล่าสุด นักข่าวจาก ThaiPBS ในประเด็นการเสียชีวิตฉับพลัน ของนักกีฬาว่า
ต้องป้องกันอย่างไร?
ต้องตรวจอะไรเพิ่มไหมก่อนออกกำลัง?
ทำอย่างไรจึงไม่เกิด?
อาการอะไรที่ต้องระวัง?
ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ต้องทำอย่างไร?
ล่าสุดทำไมเกิดเหตุใกล้ รพ ยังเสียชีวิต?
ผมขอนำข้อมูล. ของ นพ ธัญนพ โชติวนาวรรณ เป็นคุณหมอหัวใจและ นักปั่นขาแรง ได้สรุปเป็นอย่างดีดังนี้ครับ
“การเสียชีวิตกับการออกกำลังกาย เน้นในเรื่องที่เกี่ยวกับหัวใจ
อุบัติการณ์ ตัวเลขกว้างมาก ประมาณ 1:หลักหมื่นถึงหลักแสน (1:25,000 – 1:300,000 แล้วแต่ข้อมูลเลยครับ)
สาเหตุ
1.ในกลุ่มอายุ >35 ปี : พบว่า 80% เป็นจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน(ในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่เดิมแต่อาจไม่เคยรู้) ส่วนสาเหตุที่พบรองมาจะเหมือนคนที่อายุ <35 ปี
2.ในกลุ่มอายุ <35 ปี : ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ เช่นกล้ามเนื้อหัวใจหนา, กลุ่มที่มีหลอดเลือดหัวใจผิดปกติเช่นออกผิดตำแหน่ง, กลุ่มหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ส่วนกลไกที่เชื่อว่าการออกกำลังกายมีผลทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่แล้วเสียชีวิต มีดังนี้
1.เมื่อออกกำลังกาย หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่หลอดเลือดที่มีการตีบตันอยู่แล้วไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงได้เพียงพอ จึงเกิดการขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
2.ความดันที่สูงขึ้นขณะเริ่มออกกำลังกาย ส่งผลให้คราบไขมันที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดมีการปริแตก แล้วเกิดลิ่มเลือดมาอุดตันหลอดเลือดหัวใจที่ตำแหน่งนั้นแบบเฉียบพลัน
3.เกิดหลอดเลือดหัวใจหดเกร็งในตำแหน่งที่มีรอยตีบอยู่เดิม ทำให้เลือดไหลผ่านไปไม่ได้หรือไม่เพียงพอ
***กลไกเหล่านี้ถูกเสนอไว้ แต่ยังมีการถกเถียงกันอยู่
***ในผู้ที่ไม่มีโรคหัวใจใดๆเลย พบประมาณ 3% ของการเสียชีวิตขณะออกกำลังกาย (3% ของ 1 ในหลักหมื่นหลักแสน)
สุดท้าย ผู้เสียชีวิตมักถูกลงความเห็นว่าเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งจริงๆแล้วหัวใจล้มเหลวเป็นผลจากการเกิดภาวะอะไรสักอย่างแล้วทำให้หัวใจทำงานไม่ได้ เช่นหลอดเลือดหัวใจอุดตันส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย แล้วหัวใจเลยทำงานไม่ได้หรือเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรงจนบีบเลือดไม่ได้ครับ
อาการเตือน
1.เจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกาย
2.เป็นลมหมดสติ ขณะออกกำลังหรือหลังออกกำลังเสร็จ (มีความสำคัญมาก)
3.เหนื่อยง่ายกว่าที่ควรจะเป็นสำหรับการออกกำลังกายระดับนั้นๆ
4.ใจสั่นผิดปกติ
ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้หยุดออกกำลังกายและมาพบแพทย์
สำหรับคำแนะนำนะครับ
1.ในผู้ที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว และสามารถออกกำลังกายได้โดยไม่มีอาการผิดปกติ กลุ่มนี้สามารถออกกำลังกายได้เต็มที่โดยสังเกตอาการที่ควรระวังดังที่กล่าวไว้ตอนต้น กับตรวจสุขภาพประจำปีก็เพียงพอ ส่วนระดับของการออกกำลังกายก็ตามที่ร่างกายไหวครับ ถ้า HR สูงแต่ยังออกต่อได้ก็ไม่ได้มีข้อห้าม แต่ถ้ามีอาการผิดปกติใดๆก็ตามให้หยุดพัก แล้วลดความหนักลง
2.ถ้ามีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด ผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะออกกำลังกายในระดับที่หนัก
3.ถ้ามีอาการที่ควรระวัง หรือไม่แน่ใจ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายครับ
สุดท้าย อย่างไรการออกกำลังกายก็ให้คุณมากกว่าโทษนะครับ บางคนนั่งอยู่เฉยๆก็เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เสียชีวิตขณะออกกำลังกาย อาจไม่ได้มีเหตุจากการออกกำลังกายก็ได้ครับ แต่ระดับของการออกกำลังกายที่เหมาะสม ร่างกายเราจะบอกเราเองครับ พยายามอย่าฝืนก็น่าจะค่อนข้างปลอดภัยแล้วครับ ”
Admin ขอเพิ่มเติมประเด็น เรื่อง การรับมือกับ สถานการณ์ ที่พบคนหัวใจหยุดเต้นฉับพลันดังนี้ครับ
ประชาชนทั่วไป จะคิดแบบในหนัง. คือปั้มหัวใจไปสักพัก. หัวใจก็กลับมาเต้นเหมือนเดิม. แต่ในความเป็นจริง. การปั้มหัวใจเป็นเพียงการประคอง และซื้อเวลา. เพื่อนำคนไข้ไปรักษาต้นเหตุ. เช่น เส้นเลือดอุดตัน. ก็ต้องทำ. Balloon ขยายหลอดเลือด. เอาก้อนเลือดที่ตันออก. หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบสั่นพริ้ว ก็ต้องใช้ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (AED) ทำการช้อตกระตุ้น เพื่อให้หัวใจกลับมาปกติเป็นต้น
บางครั้งควรรุนแรงของโรคก็อาจมากจนเกินเยียวยา
กู้ชีพหรือรักษาเต็มที่ก็ไม่สามารถช่วยได้
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อพบ คนหมดสติ ไม่หายใจ หรือ หายใจเฮือกๆ พะงาบๆ ประชาชนทั่วไป ต้องอนุมานว่า คนนั้นมีภาวะหัวใจหยุดเต้น ไม่ต้องคลำชีพจร เพราะเสียเวลา และประชาชนทั่วไปจะคลำไม่ถูกตำแหน่ง
ระลึกไว้ว่า คนเป็นลมธรรมดา ต้องหายใจนะครับถ้าไม่หายใจ หรือหายใจเฮือกๆ ไม่ใช่การเป็นลม
ผู้ที่พบต้อง ทำ 2 อย่าง คือ
1 ร้องขอความช่วยเหลือ. เพื่อตามทีมแพทย์. หน่วยกู้ชีพ (หรือโทร1669) เข้ามาให้เร็วที่สุด สำคัญมาก
2 กู้ชีพเบื้องต้นจนหน่วยแพทย์มา ซึ่งก็คือ การปั้มหัวใจ.( Cardiac compression) ไม่จำเป็นต้องเป่าปาก แค่ปั้มหัวใจให้เร็วที่สุด และถูกวิธี ก็ช่วยซื้อเวลาได้แล้ว
การปั้มหัวใจหรือกดหน้าอก ต้องกดที่กระดูกกลางหน้าอก ไม่ใช่ที่ด้านซ้ายของตำแหน่งหัวใจ. กดด้วยความเร็วประมาณ. 100 ครั้งต่อนาที. ความแรงการกด กดให้ลึกลงประมาณ 2 นิ้ว
ขอให้ระลึกเสมอว่า
1 การปั้มหัวใจ ไม่ได้ความเร็วที่กำหนด.ตื้นไป ลึกไป ดีกว่าการไม่ปั้มหัวใจเลยแน่นอน
2 เริ่มทำให้เร็วที่สุด อย่ามัวแต่รอทีมแพทย์ จะสายเกินไปครับ
(ตัวอย่างวิธีการปั้มหัวใจ https://youtu.be/JWCekJzVhuE)
การแข่งขันที่เป็นมาตรฐานสากล ต้องมีทีมแพทย์กู้ชีพ ที่สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้เร็วที่สุด และต้องมีเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (AED) ไว้ใช้งาน.
งานจอมบึงมาราธอนเป็นแบบอย่าง ของงานวิ่งของไทยที่ยกมาตรฐานทีมแพทย์ข้างสนามในการแข่งขัน มีคุณหมอแป๊ป นพ. ภัทรภณ อติเมธิน และทีมแพทย์อาสาสมัคร ประชุม วางแผนและทำงานกันเป็นทีม มีแพทย์มากที่สุดในทุกการแข่งขัน (ไม่รวมหมอที่แข่งนะครับ) และประจำจุดต่างๆ พร้อมเครื่องมือ เพื่อเข้าถึงนักวิ่งที่หมดสติได้เร็วที่สุด และรักษาได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้นงานแข่งทุกงานต้องมีทีมแพทยทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันครับ เป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย สำหรับนักวิ่งที่หัวใจหยุดเต้นเลยทีเดียว
สุดท้ายนี้อยากให้ลองถามตัวเองว่า ถ้าคุณเจอนักวิ่งหมดสติ ไม่หายใจ คุณพร้อมที่จะช่วยชีวิตเขาไหม
ถ้าเห็นว่าบทความมีประโยชน์ และสามารถช่วยนักวิ่งได้ ฝากช่วยแชร์ให้นักวิ่งทราบด้วยครับ
เรียบเรียงโดย
หมอหัวใจไอรอนแมน